การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา บ้านโนนสัมพันธ์ ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • อารีญา เชิดชน หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
  • พงศ์สวัสดิ์ ราชจันทร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

คำสำคัญ:

การพัฒนา, คุณภาพชีวิต, เกษตรกร, ยางพารา

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา 2. เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา 3. เพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) มีเครื่องมือในการวิจัย ได้แก่ แบบการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth-interview) โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่ม คือ 1) ผู้ใหญ่บ้าน 2) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 3) คณะกรรมการหมู่บ้าน 4) เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และ 5) ประชาชน แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากเอกสาร วรรณกรรม และแบบสัมภาษณ์มาวิเคราะห์แบบเชิงเนื้อหา  (content analysis) ผลการศึกษาประเด็นคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา พบว่า คุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ 1. ด้านร่างกาย โดยชาวเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งหลังจากที่ได้ประกอบอาชีพทำสวนยางพารามักจะเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาการปวดขา ปวดแขน ปวดเอว ปวดหลัง ปวดไปตามร่างกาย อีกทั้งยังรู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติ 2. ด้านอารมณ์ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละวันแต่ละปี แต่โดยปกติแล้วเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราต่างเป็นคนอารมณ์ดี พูดคุยกับเพื่อนบ้านอยู่เป็นประจำ แต่ถ้าหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่ดีขึ้นกับสวยางพารา เช่น โดนลักลอบขโมยก้อนยางพารา ยางพาราน้ำยางไม่ไหลตามที่คาดหวังไว้ ต้นยางพาราไม่เจริญเติบโต ก็จะทำให้เกษตรกรมีอารมณ์ที่ไม่ค่อยดี เกิดความโมโห และคิดหนักเกี่ยวกับผลผลิต 3. ด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ โดยก่อนที่จะเริ่มมีการปลูกยางพาราสภาพแวดล้อมต่างๆ ของชาวเกษตรกรนั้นก็จะเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้และต้นไม้ใหญ่อยู่เป็นระยะ ๆ กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณไร่นา แต่พอเกษตรกรเริ่มที่จะทำการปลูกยางพารานั้นก็จะเริ่มมีการตัดต้นไม้ออก 4. ด้านสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ซึ่งมีการเปลี่ยนจากการจ้างคนงานมาเป็นทำงานด้วยตนเอง เนื่องจากราคายางพาราที่ตกต่ำลงและราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น จึงส่งผลต่อเกษตรกรโดยตรง 5. ด้านความคิด โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรมีความคิดที่อยากจะปลูกยางพารานั้น มาจากเห็นคนอื่นที่เขาปลูกยางพาราแล้วเขาประสบความสำเร็จมีเงิน มีทอง มีรถยนต์ ร่ำรวยหลังจากที่เขาทำการปลูกยางพารา อีกทั้งยางพารายังได้ผลผลิตตลอดทั้งปี จึงเป็นสาเหตุให้เกษตรกรเกิดความรู้สึกอยากประสบความสำเร็จ ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกยางพารา 6. ด้านจิตใจ เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ต่างมีจิตใจไม่ค่อยดี เนื่องจากหวาดกลัวผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่ลงทุน เนื่องจากต้นทุนในการปลูกยางพาราจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น ค่าพันธุ์ยางพารา ค่าปุ๋ย ค่าปลูก ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุให้เกษตรกรวิตกกังวล สภาพจิตใจไม่ดี

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-01-11

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research article)